บทเพลง

การแสดงกระบี่กระบองจะต้องมีคนตรีประกอบการแสดง  เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบด้วยปี่ชวา 1 เลา  มีหน้าที่ดำเนินทำนองเพลงต่าง ๆ กลองแขกตัวผู้และกลองแขกตัวเมีย  มีหน้าที่ดำเนินทำนองหน้าทัพต่างๆ   และฉิ่งมีหน้าที่ควบคุมจังหวะย่อยดนตรีได้เข้ามามีส่วนในการแสดงมวยไทยและกระบี่กระบองทั้งในฐานะเครื่องประโคมประกอบพิธีกรรม  และในฐานะเครื่องเสริมความครึกครื้นให้กับการแสดง
                    การบรรเลงดนตรีในการชกมวยจะกระทำในลักษณะไหว้ครูโดยใช้เพลงสะระหม่า  และในขณะชกต่อสู้จะใช้เพลงแขกเจ้าเซ็น  สำหรับในกระบี่กระบองการบรรเลงเพลงจะบรรเลงตามขั้นตอน  ดังต่อไปนี้
                    1. บรรเลงก่อนจะเริ่มการแสดงกระบี่กระบองในพิธีไหว้ครูก่อนการแสดง  เพลงที่ใช้จะเป็นเพลงชมสมุทร  เพลงโฉลก  เพลงเกาะ  หรือเพลงระกำ
                    2. การบรรเลงเพื่อการโหมโรง   เมื่อเสร็จพิธีไหว้ครูแล้วก่อนเริ่มการแสดงจะต้องมีการโหมโรงซึ่งอาจใช้เพลงแขกโอดเยี่ยมวิมาน  แขกไทร  หรือเพลงสองชั้นอื่น ๆ เลือกได้ตามสมควร
                    3. การบรรเลงในขณะแสดง  จะบรรเลงตั้งแต่เริ่มการรำเพลงสะระหม่าที่ระบุไว้ในการบรรเลงแสดงกระบี่กระบองนั้น  เป็นเพลงแขกที่ใช้ปี่ชวา  กลองแขก  ซึ้งสามารถใช้ได้ทั้งในงานมงคลและงานอวมงคล  มีบทบาทในการบรรเลงประกอบการรำอาวุธ  โครงสร้างของทำนองเพลงสะระหม่าประกอบด้วย  โยน  แปลง  โยน  ซึ่งเพลงจะเป็นจังหวะให้กับการรำและการต่อสู้  เพลงต่างๆ ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงกระบี่กระบองจะเป็นเพลงมาตรฐานแห่งการใช้อาวุธในแต่ละชนิด  โดยมีจังหวะทับของกลองแขกที่ใช้เป็นหน้าทับบังคับนี้
    กระบี่                                                                     ใช้เพลงกระบี่ลีลา  หน้าทับกระบี่ลีลา
    ง้าว                                                                         ใช้เพลงชมดง
    ดาบสองมือ                                                          ใช้เพลงโยนดาบ  จำปาทองเทศ  สร้อย  หน้าทับปรบไก่ 2 ชั้น
    พลอง                                                                     ใช้เพลงแขกมอญ  ลงสรง  ขึ้นพลับพลา  หน้าปรบไก่ 2 ชั้น
    ดาบดั้ง                                                                   ใช้เพลงสมิงทอง  บังใบ  หน้าทับสมิงทอง
    พลองกับไม้สั้น                                                    ใช้เพลงแขกมอญ  หน้าทับปรบไก่ 2 ชั้น
    ดาบสองมือกับดาบดั้น เขน หรือโล่                ใช้เพลงมอญรำดาบ  หน้าทับสมิงทอง
    สามบาน                                                                ใช้เพลงฝรั่งรำเท้า  กราวนอก
    หอกซัดกับหอกซัด                                              ใช้เพลงมัสหรี
    รำกริช                                                                    ใช้เพลงสะระหม่าแขก
                    บางครั้งอนุโลมได้ว่า  การบรรเลงประกอบการแสดงกระบี่กระบองนั้นไม่จำเป็นต้องบรรเลงเพลงประจำอาวุธ  ผู้บรรเลงอาจบรรเลงอื่นๆ ที่อยู่ในอัตรา 2 ชั้น  และหน้าทับที่ใช้บรรเลงประกอบคือหน้าทับปรบไก่ 2 ชั้น  เพลงต่าง ๆ ที่สามารถใช้บรรเลงแทนได้  เช่น  เพลงช้างประสานงา  เพลงกล่อมนารี  เพลงไทร  เพลงลมพัดชายเขา  เป็นต้น  จะเห็นได้ว่าการใช้ดนตรีเป็นการช่วยให้ลีลาของการเคลื่อนไหวในการรำต่อสู้เป็นไปอย่างงดงาม  มีจังหวะจะโคน  และช่วยสร้างความรู้สึก  หรืออารมณ์กับผู้ชม  ผู้เล่นให้เกิดความฮึกเหิม  ความสนุกสนาน