รูปแบบการเล่นกระบี่กระบอง




การเล่นกระบี่กระบองแต่ละครั้งนั้นมีแบบแผนการเล่นที่กำหนดไว้  ดังนี้
                    1. การถวายบังคม  ในสมัยโบราณผู้แสดงจึงต้องมีการถวายบังคมซึ้งเป็นการแสดงความเคารพต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วย  และต่อมาได้เป็นการปฏิบัติเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และผู้มีพระคุณ  การถวายบังคมนี้จะกระทำ 3 ครั้ง  แต่ละครั้งมีความหมายดังนี้
    ครั้งที่ 1 หมายถึง  การแสดงความเคารพต่อหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา
    ครั้งที่ 2 หมายถึง  การแสดงความเคารพต่อองค์พระประมุขของชาติ
    ครั้งที่ 3 หมายถึง  การแสดงความเคารพต่อบิดา  มารดา  ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการและผู้มีพระคุณ
                    2. การขึ้นพรหม  ประกอบด้วย  การขึ้นพรหมนั่ง  และการขึ้นพรหมยืน  บัว  นิลอาชา  ได้กล่าวไว้ว่า การขึ้นพรหมสี่หน้านี้มีความสำคัญยิ่งกับการต่อสู้กระบี่กระบองมาตั้งแต่โบราณต้องกระทำและเคารพเจ้าเหนือหัวเป็นเครื่องบำรุงขวัญ   ทำให้ใจคอ   กล้าหาญ   สามารถปกป้องคุ้มครองในการต่อสู้กับศัตรู ซึ่งมี 2 ชนิด (นาค   เทพหัสดิน ณ อยุธยา, 2513) ได้แก่
                    2.1 การขึ้นพรหมนั่ง  ได้แก่  การนั่งร่ายรำแต่ละทิศจนครบ 4 ทิศ  แล้วจึงกลับหลังหันลุกขึ้นยืน
                    2.2 การขึ้นพรหมยืน  เป็นการยืนรำแต่ละทิศจนครบทั้ง 4 ทิศ  และจบลงด้วยการเตรียมพร้อมจะปฏิบัติในขั้นตอนต่อไป
                
                    3. การรำเพลงอาวุธ   ผู้แสดงที่เล่นอาวุธรำเพลงตามอาวุธที่ตนใช้  โดยเลือกท่ารำจากท่ารำทั้งหมดในอาวุธนั้นตามความเหมาะสมประมาณ 1 ท่า 
                    ในปัจจุบันการรำอาวุธจะใช้อุปกรณ์กระบี่กระบองเรียกว่า เครื่องไม้ เป็นอาวุธที่ประดิษฐ์ขึ้นอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทย เช่น  โล่หน้าราหู  เพื่อใช้ในช่วงเวลาของการรำก่อนการต่อสู้  เครื่องไม้รำนี้นอกจากจะทำสวยงามเพื่อการรำแล้วยังเป็นการจัดทำเพื่อบูชาครูและเมื่อรวมกันเป็นชุดจะประกอบด้วย  กระบี่  ดาบ  ง้าว  พลอง  โล่  เขน  ดั้ง  ไม้  สั้น  เรียกว่า เครื่องตั้ง หรือ เครื่องไม้  ซึ่งจะใช้ตั้งบูชาในการประกอบพิธีการไหว้ครูประจำปีของแต่ละสำนัก
                    4. การเดินแปลง   เป็นลักษณะของการเดินที่พร้อมจะเข้าสู่ท่าต่อสู้   การเดินจะเดินไปจนสุดสนามแล้วกลับมาที่เดิมขณะที่อยู่ในระยะใกล้ที่จะสวนกันให้ต่างหลีกไปทางซ้ายเพียงเล็กน้อยโดยอาวุธอาจจะถูกหรือระกันเล็กน้อยได้  การเดินแปลงเป็นการที่ทั้งสองฝ่ายต่างจ้องดูเล่ห์เหลี่ยมของกันและกัน  เป็นการอ่านใจกันและคุเชิงกันในทีก่อนจะเข้าต่อสู้
                    5. การต่อสู้   จะเป็นการใช้ท่าทางการต่อสู้ที่ได้ฝึกมาทั้งหมดในสถานการณ์จริง  การต่อสู้นี้จะใช้อาวุธของการต่อสู้ที่เรียกว่า เครื่องไม้ตี มีลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องไม้รำแต่ไม่ได้ตกแต่งให้สวยงาม
                    6. การขอขมา   เป็นการไหว้กันและกันระหว่างผู้เล่นทั้งสองฝ่ายหลังจบการแสดงแต่ละอาวุธ  เป็นการขอโทษต่อการแสดงที่ผิดพลั้งต่อกัน    เป็นระเบียบที่กำหนดขึ้นในภายหลังจากสมัยท่านอาจารย์          นาค  เทพหัสดิน ณ อยุธยา